วัดพระธาตุหนองบัว

วัดพระธาตุหนองบัว ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วัดสำคัญแห่งหนึ่งของชาวอุบลราชธานี ที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามโดดเด่น คือ “พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์” ตั้งตระหง่านให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม (ภาพที่ 4.1) เป็นพระธาตุองค์สีขาวตัดลวดลายสีทองสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์เนื่องในการครบรอบ 25 ศตวรรษของพุทธศาสนา ปี พ.ศ. 2500 โดยพระธาตุเจดีย์จำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย สถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุรอบองค์พระธาตุเป็นกำแพงแก้ว 4 มุม ประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็กอีก 4 องค์ ภายในองค์พระธาตุมีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน และเป็นสถานที่รวมรสพระธรรมและกลิ่นอายวัฒนธรรมอันล้ำค่า อีกทั้งมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ สถานที่โดยรอบเงียบสงบเหมาะกับการถือศีลปฏิบัติธรรม แหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานีที่ได้รับความนิยม (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), 2565 เข้าถึงจาก https://thai.tourismthailand.org/Attraction/วัดพระธาตุหนองบัว

อย่างไรก็ดี วัดแห่งนี้อดีตชื่อว่า “วัดหนองบัว” สร้างเมื่อปี พ.ศ.2498 โดยพุทธศาสนิกชนชาวอุบลราชธานี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา เจดีย์จำลองแบบจากเจดีย์อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่ประเทศอินเดีย รอบองค์พระธาตุแกะสลักเป็นรูปพระประจำวันเกิดและเรื่องราวของทศชาติชาดก (พระเจ้าสิบชาติ) ด้านล่างรอบพระธาตุจะเป็นพุทธสาวกในบวรพุทธศาสนา ฐานรองรับองค์พระธาตุด้วยพญานาคครุฑและยักษ์ มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานองค์พระบรมธาตุและก่อสร้างพระธาตุ องค์ใหญ่ครอบพระธาตุองค์เล็กไว้ ภายหลังจึงประกาศเปลี่ยนแปลงชื่อวัดเป็น “วัดพระธาตุหนองบัว” ผู้ที่มาสักการะพระธาตุจะพบกับรูปปั้นพญานาคราชองค์ 2 องค์ คือ “ปู่กริชกรกต” และ “ย่ามณีเกตุ” เป็นพญานาคสีรุ้งหรือพญานาคฉัพยาปุตตะให้ขอพรเสริมสิริมงคล (ภาพที่ 4.2) (สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน ณ อุบลราชธานี, 29 พฤษภาคม 2558 จาก http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo/?p=432

ชาวบ้านเล่าว่า มูลเหตุของการสร้างวัดพระธาตุหนองบัวเริ่มต้นจากกลุ่มพุทธศาสนิกชนผู้ยึดมั่นในการปฏิบัติธรรมกลุ่มหนึ่งมีความปรารถนาแรงกล้าในการสร้างวัดให้เป็นสถานปฏิบัติธรรม และเป็นที่ระลึกเนื่องในวาระมงคลกึ่งพุทธกาล (พุทธศตวรรษ 2500) เริ่มสร้างในที่ดิน 30 ไร่ ของ นายฟอง สิทธิธรรม (ขณะนั้นถูกคุมขังในเรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานีด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏภายใน) นายทอง พูลยุวมิตร เล่าเรื่องราวความเลื่อมใสศรัทธาให้ นายฟอง สิทธิธรรม ฟังจึงเกิดความปรารถนาถวายที่ดินให้สร้างวัดแม้จะถูกกักขังอยู่ในเรือนจำจึงกำหนดวันมอบถวายที่ดินแปลงขึ้น เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2498 มีคณะผู้ริเริ่ม อุบาสก อุบาสิการ่วมกับฝ่ายเจ้าหน้าที่และเจ้าของที่ประมาณ 60 คนเป็นพยาน การลงมือที่แรกนี้อาจารย์จันทร์ประไพ ได้นั่งสมาธิวิปัสสนาและแจ้งแก่เทวดาอารักษ์ปรากฏนิมิต (ฝัน) ว่าอาณาเขตที่จะสร้างวัดมีผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่ได้พากันอพยพโยกย้ายอุ้มลูกจูงหลานพร้อมทั้งขนข้าวของ และสัตว์เลี้ยงของตนออกเดินทางไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ต่างก็โจษขานกันว่าที่แห่งนี้อุบาสกอุบาสิกาจะสร้างวัดและปรากฏว่าเขาย้ายไปอยู่ ทางดงก้านเหลือง (ปัจจุบันได้ถูกสร้างเป็นสวน “วนารมย์”) ครั้นรุ่งขึ้นได้เล่านิมิตให้พรรคพวกฟังแล้วทุกคนต่างก็มีความยินดีต่อนิมิต 

การเดินทาง

1)  เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว หากเริ่มเดินทางจากตัวสถานีขนส่ง จังหวัดอุบลราชธานี ให้ขับรถไปยังถนนเลี่ยงเมืองเมื่อถึงแยกวนารมย์ให้เลี้ยงขวา ตรงไปสักพักจะเจอสี่แยกหนองบัวให้ทำการเลี้ยวซ้ายเข้าถนนธรรมวิถี จะถึงวัด โดยมีระยะทางรวม 3 กิโลเมตร (Muzika เข้าถึงเมื่อ 14 มกราคม 2566 จาก: https://travel.trueid.net/detail/7av4XnG4JKw6)

2)  เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดอุบลราชธานีจะมีรถสองแถวท้องถิ่นวิ่งให้บริการ โดยสามารถขึ้นรถได้จากตลาด สถานีขนส่ง และหน้าห้างสรรพสินค้า หากขึ้นรถสองแถวจากตัวเมืองมาลงยังถนนด้านหน้าวัดพระธาตุหนองบัว จะมีระยะทางประมาณ 3กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรวมประมาณ 50 นาที

สถานที่ท่องเที่ยวที่ใกล้เคียง

1)  พิพิธภัณฑ์เปิดบ้านก้านเหลือง ตั้งอยู่ที่บ้านก้านเหลือง หมู่บ้านที่มีไม้ยืนต้นประเภทไม้เนื้อแข็งแก่นของลำต้นมีสีเหลืองขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีตสมัยก่อนที่จะมีตัวหนังสือใช้ในแถบนี้ มีอายุประมาณ 1500-2500 ปีมาแล้ว โดยสำรวจพบโบราณวัตถุเศษภาชนะดินเผาจำนวนมากกระจัดกระจายบนเนินดินด้านทิศตะวันออกของวัดบ้านก้านเหลือง และเมื่อขุดค้นทางโบราณคดีแล้ว ได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งโบราณคดี

ขึ้น เพื่อจัดแสดงเรื่องราวพฤติกรรมของมนุษย์และคติความเชื่อในการฝังศพสมัยโบราณ ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ (ทัวร์ออนไทย สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.touronthai.com/article/3115)

2)  วัดแจ้ง เป็นวัดที่เจ้าราชบุตร (หนูคำ) ผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีสร้างขึ้น ภายในวัดมีสิมเก่า งานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสานที่ได้รับยกย่องว่ามีรูปทรงสวยงาม มีงานจำหลักไม้ที่มีฝีมือแบบพื้นบ้านอีสานโดยแท้ และลักษณะเด่นของสิม คือ คันทวยนาคและหางหงส์ที่มีความอ่อนช้อยและงดงาม โดยทำเป็นรูปหัวนาคมีหงอนสะบัดปลายเป็นกนกเปลว (สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน ณ อุบลราชธานี สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2566, จาก http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo/?p=415)

3)  ทุ่งศรีเมือง เดิมชื่อ “นาทุ่งศรีเมือง” เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ในอดีตของจังหวัดอุบลราชธานี เดิมเป็นที่ทำนาของเจ้าเมืองอุบลราชธานี และใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเผาศพแบบนกหัสดีลิงค์ของเจ้าเมืองและเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไล ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมที่สำคัญของจังหวัด และเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมืองเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ถนนอุปราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเก่า ประกอบด้วยคูเมืองเป็นน้ำล้อมลอบ มีประตูทางเข้า 4 ทิศ 4 ประตู ซึ่งตั้งชื่อตามนามของเจ้านายพื้นเมือง คือ อุบลเดชประชารักษ์ อุบลศักดิ์ประชาบาล อุบลการประชานิตย์ อุบลกิจประชากร